สามีภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียน สมรสแบ่งทรัพย์อย่างไร

สามีภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียน หากประกอบอาชีพ ทำมาหาได้ร่วมกัน ในทางกฏหมายแล้ว ถือว่าทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกันนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ระหว่าง สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

หลักการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฏหมายแบ่งและพาณิชย์ ดังนี้

1 สินสมรส

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

ส่วนการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างสามีภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียนด้วยกัน ไม่มีกฏหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องทำเรื่องกรรมสิทธิรวม มาบังคับใช้แทน

ประมวกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1356 ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1357 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน

หากระหว่างที่ สามีภรรยา ทำงานแล้วได้มาซึ่งทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน แล้วใส่ชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้ในโฉนดที่ดิน แต่มา สามีภรรยา เลิกลากันไป สามีภรรยา อีกฝ่ายที่ไม่มีชื่อในโฉนดที่ดินสามารยื่นคำฟ้อง ต่อศาลเพื่อให้แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ดังเช่นคำพิพากษาศาลฏีกาดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2551

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยานายละเอียด ผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงเบญจมาศ กับเด็กชายอรรถพล ซึ่งผู้ตายรับรองว่าเป็นบุตรด้วยการให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดูและให้การศึกษา บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและตกทอดแก่บุตรทั้งสองของผู้ร้อง และรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 8226 พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกดังกล่าวและการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านทั้งสี่ ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย บุตรของผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ตายมิได้รับรองว่าเป็นบุตร รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 8226 พระนครศรีอยุธยา เป็นของมารดาผู้ตาย มิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ของผู้ร้องและยกคำค้านของผู้คัดค้านที่ 1 (ที่ถูกผู้คัดค้านทั้งสี่) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางทองเหลืองผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายละเอียด ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

.ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ รับฟังได้ว่านายละเอียดผู้ตาย และผู้คัดค้านทั้งสี่เป็นบุตรของนายลออกับนางทองขาว ผู้ร้องเป็นภริยาผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรกับผู้ตาย 2 คน คือเด็กหญิงเบญจมาศ กับเด็กชายอรรถพล ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 6906 และ 6923 ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) และรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน บ – 8226 พระนครศรีอยุธยา ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนถึงแก่ความตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนางทองขาว เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่นางทองขาวถึงแก่ความตายในขณะที่จัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้ตายออกเงินซื้อรถยนต์พิพาท จะรับฟังไม่ได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาผู้ตายเมื่อปี 2535 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันผู้ร้องทำงานอยู่ที่บริษัท เจ.วี.ซี. จำกัด ส่วนผู้ตายมีอาชีพทำเครื่องไฟ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องและผู้ตายร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์ที่หามาได้ระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้ตายได้รถยนต์พิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินกับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทด้วยในฐานะเจ้าของร่วม ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายและผู้ร้องเป็นมารดาของเด็กหญิงเบญจมาศและเด็กชายอรรถพลซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ของผู้ตาย จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ทั้งสองดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายละเอียดผู้ตาย ร่วมกับนางทองเหลืองผู้คัดค้านที่ 1 โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2512

การที่ชายหญิงแต่งงานกัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แม้ทางกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็หากระทบกระเทือนถึงสิทธิในทรัพย์สินที่ชายหญิงจะพึงมีพึงได้ตามกฎหมายทั่วไปไม่

ในระหว่างที่ผู้ร้องกับจำเลย ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ตามพฤติการณ์ที่ผู้ร้องกับจำเลยปฏิบัติต่อกัน เช่นผู้ร้องไปทำมาค้าขายโดยตนเอง ส่วนจำเลยเลี้ยงบุตรเป็นแม่บ้าน และผู้ร้องออกเงินซื้อที่ดินปลูกตึกและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดิน แล้วผู้ร้องจำเลยกับบุตรก็เข้าอยู่ด้วยกันตลอดมา ก็เป็นการแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันทำมาหากินแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นสมบัติของผู้ร้องและจำเลยร่วมกัน ทั้งมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของในทรัพย์พิพาทโดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าบรรดาทรัพย์ที่ผู้ร้องหรือจำเลยหามาได้ ระหว่างนั้นแม้จะเป็นด้วยแรง หรือเงินของฝ่ายใดก็ไม่สำคัญ ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของร่วมกัน และเมื่อผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันทรัพย์ทั้งหมดโดยเฉพาะทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ประเภทสินเดิมของผู้ร้องและจำเลยเท่าๆกัน

ข้อสังเกต

1 ถ้าต่างคนต่างทำมาหากินหรือได้มาโดยทางมรดกแม้ว่าจะอยู่กินร่วมกันตลอดมา ทรัพย์สินในส่วนนี้ย่อมมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหากแต่เป็นของแต่ละฝ่ายไป

ตัวอย่างฏีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2519

ทรัพย์พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่ โจทก์ แม้โจทก์จะได้รับมรดกในระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยก็ตาม แต่เมื่อการอยู่กินฉันสามีภริยานั้น ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จำเลยก็ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาทร่วมกับโจทก์ เพราะการที่โจทก์ได้รับมรดกย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยร่วมหากันมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2506

การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย แต่มิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น ทรัพย์ที่โจทก์ได้รับมรดกมาในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับโจทก์ เพราะการที่โจทก์ได้รับมรดกทรัพย์นั้นมาย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่โจทก์และจำเลยร่วมกันหามา