การขอประกันตัว คือ การขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลตามระยะเวลาที่กําหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าความจําเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่มีความจําเป็นต้องควบคุม ก็ควรที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวไป อันเป็นการปฏิบัติตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทําความผิดจะปฏิบัติต่อ บุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําผิดมิได้ (อ้างอิง1)
การขอประกันตัวสำหรับผู้กระทำความผิด จะประกันได้ขณะเป็นผู้ต้องหาในชั้นของพนักงานสอบสวนและในขณะเป็นจำเลยในชั้นศาล
- ขณะเป็นผู้ต้องหา คือ เมื่อพนักงานสอบสวน หรือ พนักงานอัยการ นำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาล และศาลอนุญาตให้ขังซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว
- ขณะเป็นจำเลย คือ ช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์ ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลย ซึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล
การปล่อยตัวชั่วคราว
การขอปล่อยตัวชั่วคราว คือ การยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้พิจารณาปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน ภายในระยะเวลาที่กำหนด (อ้างอิง2)
หากผู้ประกันประสงค์จะขอประกันตัว หรือเรียกตามภาษากฎหมายว่า “ขอปล่อยชั่วคราว” ผู้ต้องหา หรือจำเลย จำจะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างสอบสวน หรือ ระหว่างพิจารณา แล้วแต่กรณีต่อศาล
สิ่งที่สามารถใช้ประกันตัวหรือหลักประกันได้ มีดังนี้
- ใช้ตัวจำเลยเองในการประกันตัว
- เงินสด
- หลักทรัพย์
- ที่ดิน
- บัญชีธนาคาร
- พันธบัตรรัฐบาล
- บุคคล
มาวางหรือประกันตัวได้ โดยจะขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่ได้กระทำและความเสียหายของผู้เสียหาย
กำไล EM
จำเลยที่มีโทษทางอาญา จะต้องถูกติดด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “EM” ไว้ตามร่างกาย การใช้กำไล EM นั้นเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประกันตัว เพื่อที่ทางตัวผู้ต้องหาจะได้มีเงินเหลือ เพื่อไปใช้ในการดำเนินคดี และยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดต้นทุนสำหรับการหาหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหา (แต่ยังต้องใช้เงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตัวของตนเองอยู่)
ที่ผ่านมาการปล่อยชั่วคราวนำไปสู่ความไม่เสมอภาคในแง่ที่ว่า บุคคลที่มีฐานะทางการเศรษฐกิจดี ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวดีกว่าบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เพราะตามหลักเกณฑ์ การปล่อยตัวชั่วคราวตามกฎหมายไทย มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีหลักประกัน ดังนั้นกระทรวงยุติธรรม จึงเห็นชอบให้มีการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงความเท่าเทียมในการได้เข้าถึงการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย
อ้างอิง
- http://legal.sru.ac.th/wp-content/uploads/sites/4/2017/01/How-to-set-ail-16.01.2560.pdf
- https://ptymc.coj.go.th/th/file/get/file/20191024d41d8cd98f00b204e9800998ecf8427e111515.pdf
ลิงค์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม