คําว่า “ตอแหล” เป็นการดูหมิ่นหรือไม่

คําพิพากษาฎีกาที่ 8919/2552 การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือทําให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคําที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทําให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย คําว่า “ตอแหล” ว่า เป็นคําด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จําเลยกล่าวถ้อยคําดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูก เหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

https://deka.in.th/view-497436.html

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 136, 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ปรับ 400 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง (ที่ถูกระบุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วย) คงปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นไห้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “อีตอแหล มาดูผลงานของแก” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายการวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “ตอแหล” ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเข้าลักษณะการหมิ่นประมาท การที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นโดยปรากฏในคำแถลงการณ์ปิดคดีแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทและเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรและมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยตกอยู่ในสภาวะคับขัน จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัย นั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยถึงอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยย่อมเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก โดยเห็นว่าการกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พันภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 ประกอบ มาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงว่า เหตุที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหาย เนื่องจากเข้าใจว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งในเรื่องการขอสำเนาเอกสารกับถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย มิใช่เกิดเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยตกอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68