ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคําสั่งศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 หากมีผู้ซื้อที่ดินจากบุคคลดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง ผู้ซื้อจะได้รับความ คุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่

ธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน แม้โจทก์ทั้งสองจะมิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรง หรือโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลานานแล้ว หรือการที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นอย่างถาวรในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี แล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน ก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองได้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้

สรุป ผู้ซื้อทรัพย์ยอมได้รับความคุ้มตาม มาตรา 1330 ด้วย

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นของจำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 ตำบลชัยฤทธิ์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง โดยภาระของจำเลย และห้ามไม่ให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการใช้ที่ดินเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายแล้วเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยถึงแก่ความตาย นางสาวน้ำฝน ทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนขนย้ายและสิ่งปลูกสร้างอื่นออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 ตำบลชัยฤทธิ์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ของโจทก์ทั้งสอง และห้ามจำเลยกับบริวารเข้ามาเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีก ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายบ้านเรือนออกไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยพิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมนายจาบ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 ตำบลชัยฤทธิ์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ 2 ไร่ 80 ตารางวา จำเลยอ้างว่านางฟุ้ง นางเกตุ และจำเลย เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินพิพาท เนื้อที่ 2 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ที่ดินพร้อมบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นของจำเลยอยู่ในส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 ครั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 จากนายจาบ จำเลยโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจังหวัดอ่างทอง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 228/2531 ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินดังกล่าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และในวันเดียวกันโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของร่วม เห็นว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6295 รวมทั้งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรืออีกนัยหนึ่งที่ดินพิพาทเป็นของบุคคลอื่นหรือเป็นของจำเลยคดีนี้ก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330
โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อีกทอดหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน แม้โจทก์ทั้งสองจะมิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม หรือโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลานานมาแล้ว ก็มิได้เป็นการซื้อขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการสละสิทธิในส่วนที่ดินพิพาทดังกล่าวที่จำเลยฎีกาเพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดนำมาปรับแล้วทำให้เกิดผลเป็นเช่นนั้น หรือการที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นอย่างถาวรในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี แล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เป็นหลักฐาน ก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย และเมื่อโจทก์ทั้งสองบอกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330