ทดลองงานไม่ผ่าน นายจ้างต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง
สัญญาจ้างการทดลองงานโดยมีกำหนดระยะเวลา ตามกฎหมายถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา (เนื่องจากนายจ้างจะเลิกจ้างหรือจะจ้างต่อเมื่อครบกำหนดก็ได้ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสองตอนท้าย) แล้วลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน ต้องมาดูว่านายจ้างเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าไม่ผ่านการทดลองงานย่อมเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม (นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย หรือศาลจะไม่พิพากษาให้รับกลับเข้าทำงาน) แต่จะต้องมีการประเมินผลการทดลองงาน เนื่องจากการอ้างว่าลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงานนั้น จะต้องมีขั้นตอนของการประเมินผลการทำงานของลูกจ้างทดลองงาน ทั้งนี้เพื่อเกิดความยุติธรรมกับฝ่ายลูกจ้างด้วยว่าต้องมีความสามารถในงานที่ทำเพียงใด เพื่อให้ผ่านขั้นตอนการประเมินงาน และหากเลิกจ้างโดยการการแจ้งว่าลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน จะให้มีผลควรแจ้งก่อนให้มีผลเลิกจ้างไม่น้อยกว่ากำหนดจ่ายค่าจ้าง 1 รอบ แม้ลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงานก็ตาม แต่หน้าที่ของนายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าถึงการไม่ผ่านงานกับลูกจ้างเสมอ
กรณีกฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย หากทำงานครบ 120 วัน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 แต่ส่วนใหญ่จะทดลองงาน 119 วัน เมื่อเลิกจ้างลูกจ้างจะไม่ได้ค่าชดเชยเพราะนายจ้างเลิกจ้างก่อนครบเงื่อนเวลาตามกฎหมาย 1 วัน แต่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ปกติเรียกกันว่า “ค่าตกใจ” ) กฎหมายกำหนดว่าการทดลองงานจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีระยะเวลาแจ้งก่อน 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง แต่อย่าลืมว่าต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง ถ้าบอกกล่าวไม่ครบก็ต้องจ่ายค่าจ้างแทน ซึ่งนายจ้างอาจต้องจ่ายค่าจ้าง 1 เดือน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และนายจ้างอาจต้องจ่ายค่าชดเชยอีก 1 เดือน
สำหรับการรับลูกจ้างทดลองงานเข้าทำงาน กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเขียนสัญญาต้องเขียนว่า “ทดลองงานไม่เกิน 119 วัน” คำว่า “ไม่เกิน 119 วัน” จะทดลองงาน 30 วัน หรือ 60 วัน ก็ได้ เพราะหากไม่เกิน 119 วัน แต่ถ้าให้ชัดเจนและมีผลในทางกฎหมายเกี่ยวกับการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง ต้องระบุในสัญญาจ้างว่า ทดลองงาน 89 วัน และจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ผลจากการเขียนสัญญาจ้างทำให้เมื่อไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างแจ้งเลิกจ้างในวันที่ 89 และให้ทำงานต่อไปอีก 1 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 119 ดังนี้การร่างสัญญาจ้าง จะมีผลให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับลูกจ้างทดลองงาน
#ลูกจ้าง ทดลองงานไม่ผ่าน #นายจ้าง #ต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
http://legal.labour.go.th/2018/images/law/Protection2541/labour_protection_2541_new.pdf